เคล็ดลับสู่การเป็นสินค้าที่ขายได้ = อย่าอายที่จะเป็นตัวประหลาด

สวัสดีค่ะ ผลสอบวัดระดับรอบกลางปีเพิ่งออกไปเมื่อวานนี้ แต่เราจะไม่พูดถึงมันหรอกนะคะ

สิ่งที่เราอยากจะพูดเกี่ยวกับสอบวัดระดับ เราจะเก็บไว้เขียนวันที่เราสอบผ่านค่ะ (แต่วันนี้ยัง 555+)

แล้วปกติเขียนเรื่องล่าม ทำไมวันนี้ถึงตั้งชื่อเรื่องเกี่ยวกับการขายของ

เราก็ยังวนเวียนเขียนเรื่องล่ามๆเหมือนเดิมแหละค่ะ เพราะไม่มีความรู้ทางด้านการตลาด แต่สิ่งหนึ่งที่เราสังเกตได้ เวลาอ่านเรื่องของคนที่ประสบความสำเร็จก็คือ “ทุกคนมีความเป็นเอกลักษณ์”

ช่วงนี้งานที่บริษัท เราจะได้แปลการพรีเซนท์เพื่อเลื่อนตำแหน่งของพนักงาน โดยจะเป็นการ coaching จากผู้บริหาร ทำให้เราได้ไอเดียอะไรดีๆมาเยอะมาก

เราชอบที่ผู้บริหารคนไทยแนะนำว่า “เวลากินข้าวเหนียวมะม่วง เราจะรู้ว่าข้าวเหนียวนุ่มหอม มะม่วงหวานอร่อย แต่ถ้ากินรวมมิตร เราก็จะจำไม่ได้ว่ามันมีอะไรโดดเด่น”

ซึ่งพอไปนำเสนอในเวทีที่เป็นผู้บริหารคนญี่ปุ่น คอมเม้นท์ก็เหมือนกัน “เห็นคุณอธิบายมาเยอะแยะมากเลย แต่สุดท้ายแล้วผมไม่เข้าใจว่าคุณต้องการจะบอกอะไร”

ในความเป็นจริงแล้วเราอาจจะทำมาเยอะมาก อยากจะบอกสิ่งที่เราทำมาทั้งหมด แต่จากการได้เป็นผู้แปลทำให้เราได้ฟังมา เราคิดว่ายิงให้ตรงประเด็นดีกว่า

เมื่อวานคุณลุงที่เป็นหัวหน้าเรา สอนคำศัพท์ว่า 単刀直入 たんとうちょくにゅう

[名・形動]《一人で刀を持って敵に切り込む意から》直接に要点を突くこと。遠回しでなく、すぐに本題に入ること。また、そのさま。「―な言い方」

遠回しでなく前置きなしに、いきなり本題に入り要点をつくさま。一本の刀を持ち、ただ一人で敵陣に切り込む意から。

ลุงพูดในความหมายของ “การตอบให้ตรงคำถาม” ซึ่งมันเป็นความยากสำหรับล่ามมาก เวลาเจอคนตอบไม่ตรงคำถาม ไปไหนมา สามวาสองศอก

แน่นอนว่าล่ามทุกคน อยากจะแปลให้ตรงที่สุดเท่าที่จะทำได้อยู่แล้ว

ย้อนกลับไปที่เรื่องของ ความเป็นเอกลักษณ์ต่อ

ช่วงนี้เรากำลังพยายามคิดๆๆ หาเส้นทางของตัวเองอยู่ เพราะมันมาถึงช่วงอายุที่เป็นจุดเปลี่ยนพอดี (ขอสงวนสิทธิ์ไม่บอกว่าอายุเท่าไหร่ อิอิ)

พี่ล่ามที่เป็น mentor เราตอนนี้อยากให้เราไปสายคุณภาพ อยากเห็นเราไปได้ไกลๆ แต่เราเองก็ยังไม่รู้เลยว่าตัวเองชอบทางนี้จริงๆรึเปล่า

กับอีกเรื่องที่พี่เค้าบอกเราก็คือเวลาแปลเอกสาร “ภาษาไทยสวยมาก”

ตอนเด็กๆวิชาที่เราทำได้ดีที่สุด ก็ภาษาไทยนี่แหละ

ตอนแปลประชุมตอนเช้ากับพนักงานที่อยู่หน้างาน เวลาลุงพูดภาษาญี่ปุ่นมา เราก็พยายามจะแปลออกไปให้เป็นภาษาไทยที่เป็นธรรมชาติและเข้าใจง่าย คุณลุงคนญี่ปุ่นเราพูดภาษาไทยเก่งมาก ฟังออกหมดเลย ลุงก็ฟังเราแปล แล้วก็หันมาชมเราว่า “พูดภาษาไทยเก่งมากหนา”

“ก็คนไทยนี่คะ”

วันนี้พี่ล่ามที่ทำงานที่เป็น perfectionism ก็เดินมาหาเราแล้วบอกว่า “ช่วยพี่แปลประโยคนึงดิ พี่พยายามคิดแล้วแต่มันยังไม่ได้ พี่อีกคนเลยให้มาถามเราดู เป็นว่าเป็นคนมีจินตนาการ น่าจะถนัดอะไรแบบนี้”

เรา “555+ หมายถึงงานมโนเหรอคะ ด้ายยยย เดี๋ยวแปลแล้วส่งเมลล์ไปให้นะคะ”

ประโยคภาษาไทยที่ว่านั้นเขียนว่า “หากจะมองจากเบื้องบนลงมาที่มหานครโตเกียว ก็คงจะมองเห็นแสงไฟที่สาดแสงอยู่ทั่วทุกหนทุกแห่งอย่างไม่รู้จักจบสิ้น”

เคยอ่านหนังสือสอนแปล EN<>TH มา หนังสือบอกว่าการแปลนั้นจะต้องถ่ายทอดได้ทั้งความหมายและรสของภาษาด้วย ปกติเราแปลรายงานปัญหาคุณภาพ มันก็ไม่ต้องใช้จินตนาการอะไรหรอก แต่ถ้าเจอแบบนี้ ก็ถึงเวาที่ต้องขุดเอาจินตนาการขึ้นมาใช้

เราก็นึกถึงซีรี่ย์ เรื่อง Hanzawa Naoki เฉือนคมนายธนาคารที่กำลังดูอยู่ตอนนี้ นึกถึงฉากที่ Hanzawa พาภรรยาไปดูแสงไฟในเมืองที่มองจากที่สูง

แล้วเราก็คิดประโยคออกมาได้ ประโยคเต็มๆจำไม่ได้หรอก เราใช้แต่ไวยากรณ์อนุบาล แต่เราใช้คำว่า “どこ見ても消えてもなく、輝いている照明” ซึ่งพี่ล่ามก็ชอบคำนี้ของเรา ก็คุยๆหัวเราะกันว่าเราควรจะไปเอาดีทางด้านเล่นลิเกมากกว่า 555+

ไม่ว่าจะทำธุรกิจส่วนตัว หรือจะเป็นพนักงาน เราก็ต้องขาย”ของ”กันทั้งนั้น ท่ามกลางสินค้าที่มีอยู่มากมายในท้องตลาด จะทำยังไง ให้เราเป็นสินค้าที่ขายได้อยู่เสมอ

แน่นอนว่าทำธุรกิจ มันคือการขายสินค้า หรือบริการ

ส่วนการเป็นพนักงาน มันคือการขาย “ตัวเอง”

อย่างแรกเลยที่เราต้องขายก็คือตอนที่ไปสัมภาษณ์งาน คำถามที่มักพบบ่อยๆคือ “ช่วยบอกข้อดี-ข้อเสียของคุณหน่อยได้มั้ย”

สำหรับการนึกถึงข้อเสีย เราอาจจะนึกได้ไม่ยากเย็นอะไร แต่มันจะยากตรงที่จะเอามาตอบยังให้พลิกจากข้อเสียไปเป็นข้อดีได้ และไม่ดูตอแหลเกินไปจนกระดากปากเวลาจะพูด (555+ วันนี้มีแต่คำไม่น่ารักเลย ช่างเถอะ บล็อกของเราเอง)

ส่วนข้อดี หลายๆคนใช้เวลานึกเป็นปีๆก็ยึงนึกถึงอันที่มัน “ใช่” ไม่ออก

ถ้าจะถามเรา เราคงบอกได้ว่า คิดให้ดีๆ คิดให้เยอะๆ แล้วเลือกมาข้อเดียวที่เด่นจริงๆ อย่างที่ลุงบอกแหละ “単刀直入” แทงให้ตายด้วยดาบเดียว ยิงให้ตรงเป้า เอาให้เข้าประเด็น

ถ้าจะอธิบายเพิ่มว่าอะไรคือ “จุดเด่น” สำหรับเราก็คงเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ไม่ว่าใครก็เลียนแบบไม่ได้”

แต่ถ้าเป็นสินค้าที่ขาย เราก็มักพบธุรกิจที่เจ๊งตามๆกันบ่อยๆก็คือพอเวลาอะไรฮิตขึ้นมาก็แห่ไปขายอย่างเดียวกันจนเกร่อไปหมด แล้วสุดท้ายก็มีแต่คนขายไม่มีคนซื้อ

ตอนเด็กๆเราคิดมาตลอดว่าการทำเหมือนคนอื่นมันน่าเบื่อ เราทำสิ่งที่เราอยากจะทำ ทำให้บางทีเราเป็นตัวประหลาดในหมู่เพื่อนๆ หรือแม้กระทั่งในสายตาของครู เราเกลียดการเรียนในโรงเรียนที่ให้ทุกคนทำเหมือนๆกัน มันไม่น่าสนุกสำหรับเรา เราเลยถูกมองว่า “ขวางโลก” อยู่บ่อยๆ บางครั้งก็ต้องเจอกับความเจ็บปวดจากการที่ไม่เหมือนคนอื่น แต่เราไม่เคยเสียใจที่เราเป็นแบบนั้น

ขอยืนยันจากประสบการณ์ของตัวเองเลยว่าความแตกต่างไม่ใช่สิ่งที่ผิด เป็นสิ่งที่ดีด้วยซ้ำ เพราะถ้าทุกคนบนโลกนี้เป็นเหมือนกันหมด มันก็ไม่สนุกสิ

เมื่อหาความแตกต่าง หรือจุดขายของตัวเองได้แล้ว ก็ทำให้ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถเลียนแบบได้ มันหมายความว่า เราต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพราะคนอื่นเค้าก็ไม่หยุดเหมือนกัน จึงต้องหมั่นขัดเกลาตัวเองอยู่เสมอ

ถ้าเปรียบหัวใจของนักทำซูชิคือมีด ต่อให้เป็นมีดที่ลับขึ้นมาจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและดีแค่ไหน แต่ใช้ไปเรื่อยๆถ้าไม่หมั่นลับให้แหลมคมมันก็ทื่อ และส่งผลให้ปลาดีๆเสียคุณภาพ (นี่ไง เราอ่านการ์ตูนมากไป เราสายมโน เราควรไปเล่นลิเกมากกว่าเป็นล่าม)

บางทีเราก็รู้สึกว่าตัวเองเรื่องมาก มานั่งคิดอะไรที่คนอื่นไม่สนใจ หรือไม่คิด มันคงดูเป็นเรื่องไร้สาระและเสียเวลา แต่เมื่อเรามองย้อนกลับไปถึงอดีตของตัวเอง เราเห็นคุณค่าของสิ่งที่เราทำ เราก็เลยทำมันต่อไป ยกตัวอย่างก็เรื่องที่เราเขียนนี่แหละ

เวลาที่เขียนอะไรแล้วมีคนชอบ เป็นประโยชน์กับเค้าบ้าง ทำให้เค้ารู้สึกดี มีแรงสู้ต่อไป เราก็ดีใจแล้ว

ของแถมสำหรับคนที่อยากได้ศัพท์โหดๆเกี่ยวกับการเงินและธนาคาร จากเรื่อง Hanzawa Naoki สนุกมากๆ แต่เราดูแบบไม่มีซับ ไม่เข้าใจเลย 555+ ก็ดูมันทั้งๆที่ไม่เข้าใจนี่แหละ

http://www.tbs.co.jp/hanzawa_naoki/glossary

เราเลือกเพื่อนร่วมงานไม่ได้ แต่เราสามารถสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดีได้

เมื่อเช้าตอน Morning Meeting พี่เมเนเจอร์พูดถึงคอร์ส management ที่พี่เค้าไปเรียนมา

เค้าพูดว่า “เราเลือกเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างานไม่ได้ แต่เราสามารถสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดีได้”

ฟังแล้วคุ้นๆ นึกถึงคำที่พี่ล่ามไอดอลเคยสอนเราไว้ว่า “ล่ามอย่างเราเลือก user ไม่ได้”

เพราะคำพูดนั้นของพี่เค้า ทำให้เราอดทนมากขึ้น ไม่ว่าจะเจอคนพูดยาว ไม่เว้นวรรคให้แปล พูดไม่รู้เรื่อง จับใจความไม่ได้ คนพูดเองยังงงเองว่าตัวเองต้องการจะสื่ออะไร คือไม่ว่าจะเป็น user แบบไหน เราสามารถตั้งรับได้ด้วยอาการนิ่งสงบ (มากขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะ)

มีครั้งหนึ่ง user ท่านหนึ่งโทรไปหาคนญี่ปุ่นที่อยู่ต่างประเทศ เค้าพูดภาษาญี่ปุ่นได้นิดหน่อย คุยๆไปแป๊บเดียวก็มาเรียกเรา “ช่วยพี่หน่อยครับ” โดยไม่เล่าอะไรให้เราฟังก่อนเลย แล้วมันเป็นการอธิบายทางโทรศัพท์ ไม่เห็นหน้า พี่แกก็พูดถึงโปรแกรมที่หน้าจอของตัวเองว่ามันมีปุ่มนี้ปุ่มนั้น มีพารามิเตอร์นู่นนี่นั่น เช็คแล้ว เราเช็คกับซัพพลายเออร์เช็คไม่ตรงกัน บลาๆ

จากประสบการณ์การทำงานเคสแบบนี้เราก็นิ่งไปนิดหนึ่ง คือรู้แหละว่าพี่พูดถึงหน้าจอพี่ แต่คนญี่ปุ่นที่อยู่ปลายสายเค้าไม่เห็น พี่ชี้ๆตรงนั้นตรงนี้เค้าก็ไม่เข้าใจหรอก เราก็พูดกับเค้าดีๆว่า พี่ช่วยอธิบายให้เราฟังก่อนได้มั้ยว่าคุยเรื่องอะไรและพี่ต้องการสื่อสารอะไร

เค้าก็พูดๆมายาวอยู่ เนื้อหาไม่ค่อยเคลียร์เท่าไหร่ เราก็จดโน้ตลงกระดาษแล้วก็แปลแบบสรุปตามที่เราเข้าใจให้ปลายสายฟังว่า “ผมส่งโปรแกรมและผลการวัดค่าไปให้ โดยวัดตามหัวข้อนี้ๆ ผลการวัดของเรากับซัพพลายเออร์เหมือนกันในจุดนี้ ต่างกันในจุดนี้ อยากให้ช่วยยืนยันผลการวัดหน่อยครับ ว่าถูกต้องแล้วหรือไม่” ก็สื่อสารกันได้เข้าใจ ทางโน้นก็ตอบว่า “รับทราบครับ จะเช็คให้” แล้วเราก็บอกให้ถือสายรอสักครู่ หันไปถาม user ว่า “มีอะไรเพิ่มเติมมั้ย” เค้าก็บอกว่าเรื่องนี้ด่วน ขอภายในวันนี้ ก็ร้องขอปลายสายไป ทางโน้นก็รับทราย ก็จบสวยๆไป พอวางสายไป user ก็พูดกับเราว่า “น้อง(ชื่อเรา)แม่งเจ๋งว่ะ พี่พูดไม่รู้เรื่องยังแปลให้รู้เรื่องได้”

555+ ตลก ครั้งหน้าพี่ก็เรียบเรียงก่อนแล้วค่อยพูดเนอะ ใจเย็นๆเนอะ

อีกเคสหนึ่งคือเป็นการประชุม ซัพพลายเออร์มารายงานปัญหา แล้วพี่ user บริษัทเราก็คอมเม้นท์ยาวมาก แบบไม่เว้นช่องว่างให้แปลเลย เอาเป็นว่าที่พี่แกคอมเม้นท์ เรานั่งจดได้ประมาณ 2 หน้ากระดาษ A4 (แบบแบ่งครึ่งหน้าแล้วจดด้วยนะ)

พี่แกก็พูดๆๆๆๆๆๆจนพอใจแล้วก็หยุด ก่อนจะนึกขึ้นได้ หันมาถามเราว่า “พี่พูดยาวไป แปลได้มั้ย?”

ก. ทำหน้าหงิกใส่ user คิดในใจว่า “ห่านนน พูดยาวเป็นกิโลขนาดนี้ แปลทันก็มหาเทพแล้วจ้ะพ่อคู๊ณณณณณณ”

ข.ยิ้มแหะๆ ตอบไปเบาๆด้วยสีหน้าเกรงอกเกรงใจว่า”ไม่ทันค่ะพี่ ช่วยพูดอีกทีได้มั้ยคะ”

ค.ยิ้มนิดๆอย่างมั่นใจ แปลออกไปแบบสรุป กระชับ แต่ได้ใจความครบถ้วน (พี่แกพูดยาวขนาดนั้นต้องมีน้ำเยอะอยู่แล้ว ตัดออกบ้างก็ได้ คัดเอาแต่เนื้อๆ เน้นๆ)

ถ้าเป็นเมื่อก่อนคงแก้ปัญหาด้วยการยิ้มแหะๆ แล้วบอกว่า “ไม่ทันค่ะ” ซึ่ง user ที่ใจดีก็จะพูดให้ใหม่ (แต่จะแอบไม่พอใจ เพราะพูดตั้งยาว จะให้พูดหมือนเดิมก็คงยาก) ถ้า user อารมณ์ขึ้นก็คงหงุดหงิด

แต่เราเคยมีประสบการณ์ที่เจ็บปวดกับเหตุการณ์ในลักษณะนี้มาแล้ว ประสบการณ์มันจะสอนเราเอง และสิ่งที่เราทำคือพยักหน้าให้พี่เค้า ยิ้มเบาๆแล้วบอกว่า “ได้อยู่ค่ะ” แล้วก็แปลเป็นภาษาญี่ปุ่นที่จับใจความมาแล้ว สรุปๆประเด็นเอา

เมื่อก่อนเราทำไม่ได้เลยนะ ประสบการณ์ที่เจ็บปวดที่ว่าคือเคยไปเป็นล่ามแปล internal audit ในบริษัท แล้วทั้ง auditor กับ คนถูกออดิทเป็นคนไทย ก็เถียงๆกัน มีคนไทยรุมๆพูดพร้อมกันประมาณ 4-5 คน เราไม่รู้จะทำยังไง ก็พยายามจะเก็บให้ได้มากที่สุดด้วยการโดจิแปลทุกคำ แต่ก็เก็บได้ไม่หมดหรอก 4-5 ปากพูด เรามีปากเดียวจะแปลทันได้ยังไง

ผลก็คือ GM คนญีปุ่นที่เฮี้ยบมากๆ บอกให้ทั้งห้องประชุมหยุด แล้วหันมาพูดกับเราว่า

GM “ที่เธอแปลๆมาเธอเข้าใจรึเปล่า”

เรา “เข้าใจค่ะ แต่เกรงว่ามันจะไม่ทัน… (เลยพยายามจะแปลให้ทัน)”

GM “งั้นก็จดซะสิ!”

โอ้โห! เจ็บกว่าโดนส้นตีนอัดหน้ากลางมหาสมุทรแปซิฟิก(ขออภัยที่ไม่สุภาพ แต่รู้สึกแบบนั้นจริงๆ หน้าชาเลย) หลังจากนั้นเรานั่งจดไปชั่วโมงครึ่ง จนกระดาษโน้ตที่เราเตรียมไว้ใส่คลิปบอร์ดหมดไปทั้งปึก ก็ไม่มีใครหยุดให้เราแปล พอจบออดิท เราก็เดินไปสรุปให้คนญี่ปุ่นอีกคนหนึ่งฟัง (สรุปเหลือ 3 บรรทัดได้ 555+)

แล้วก็ไปนั่งเฟลในห้องน้ำ ทำไม GM คนนั้นต้องด่าเราต่อหน้าคนอื่นแบบนั้นด้วย เราเสียใจ เราพยายามแล้ว แต่สถานการณ์มันเกินความสามารถเราจริงๆ T^T แต่พอมองในมุมกลับกัน ในฐานะคนญี่ปุ่นที่ต้องฟัง แล้วล่ามที่แปลออกมาแปลไม่รู้เรื่อง มันก็น่าโมโหจริงๆแหละ

พอเอามาประกอบกับที่พี่ล่ามเคยสอนว่า “เข้าใจก่อนแล้วค่อยแปล” มันก็เลยส่งผลให้เรา ทำได้ดีขึ้น (มั้ง) ในวันนี้

กลับเข้าเรื่อง “เราเลือกเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างานไม่ได้ แต่เราสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่มีความสุขในการทำงานได้” สำหรับสายอาชีพอื่นๆ อาจจะจริง แต่สำหรับล่ามมันมีความพิเศษอยู่อย่างหนึ่งตรงที่คล้ายๆ auditor คือยิ่งไปตรวจหลายบริษัท ยิ่งเห็นเยอะ เอามาเชื่อมโยงกันได้มาก ก็ยิ่งเก่ง ถ้าเป็นล่ามแนว pure interpreter เน้นแปลอย่างเดียว ยิ่งได้แปลหน้างานหลากหลาย ก็ยิ่งรู้ศัพท์มาก ก็ยิ่งเก่งมาก (แต่แต่ละบริษัทก็มีศัพท์เฉพาะทางที่ใช้ไม่เหมือนกัน) ดังนั้นล่ามที่ดีก็ควรจะรู้ให้กว้าง และลึกที่สุดเท่าที่จะมากได้ (เอาจริงๆก็ไม่ต้องลงลึกในรายละเอียดหรอก แต่รู้ไว้ก็ดี มันจะช่วยในการเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆเข้าด้วยกัน) ถ้าเป็นล่ามที่ไปแบบไม่มีใครให้แบคกราวน์เลย ก็ต้องใช้จินตนาการมากหน่อย

หากความรู้ในหัวเรามีมากพอ เราจะปะติดปะต่อเรื่องได้  เราพูดกับพี่ที่บริษัทบ่อยๆว่าการทำงานของเรา “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” ไม่ใช่ว่าความรู้ไม่สำคัญนะ แต่เราความรู้น้อยไง เลยต้องใช้จินตนาการเยอะหน่อย 555+

กลับไปเรื่องเลือกได้เลือกไม่ได้ต่อนะ พิมพ์มาตั้งนานไม่เข้าเรื่องสักที

อย่างที่บอกไปว่าส่วนตัวแล้วเราคิดว่าล่ามเลือก user ได้ประมาณนึง ด้วยสภาพตลาดตอนนี้ถือเป็นความโชคดีอย่างตรงที่การหางานล่ามไมได้ยากลำบากนัก ทำให้เรามีสิทธิ์เลือกได้พอสมควร

เอาง่ายๆก็เปรียบเทียบกับความรัก

ถ้ามีแฟน แต่แฟนคนนี้คบแล้วไม่ดีเราจะทำยังไง?

1.เลิก หาใหม่ให้ได้คนที่”พอดีกับเรา”

2.อดทน ปรับตัวเข้าหากัน หวังว่าความสัมพันธ์จะดีขึ้น

กรณีที่เลือกตัวเลือกที่ 2 อดทน เนี่ยมันก็มีตัวเลือกต่ออีกว่า

2.1 ทนแล้วปรับตัวเข้าหากันได้ จนได้แต่งงานกัน อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขเพราะผ่านอะไรด้วยกันมามากมาย

2.2 ทนแล้วแต่ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ก็ทนต่อไปหวังว่าสักวันมันคงจะดีขึ้น ทนอยู่ด้วยน้ำตา

2.3 ทนแล้วไม่มีอะไรดีขึ้นก็แยกย้าย ทางใครทางมัน

การหางานก็เหมือนเหมือนหาแฟนแหละค่ะ ใครๆก็อยากได้คนที่พอดีกับเรา อยู่ด้วยกันแล้วมีความสุข

ส่วนรีครูทก็เหมือนบริษัทจัดหาคู่ ถ้าโชคดี เราอาจจะเจอคู่ที่ดี แต่ถ้าโชคร้าย ก็ต้องปรับตัวหรือเอาตัวรอดออกมาจากสถานการณ์นั้นให้ได้

หรือบางที ไปหาแฟนเอง ไม่ผ่านบริษัทจัดหาคู่ ก็อาจจะเจอทั้งที่ที่เราโอเคหรือไม่โอเคก็ได้

การทำงานก็เหมือนกัน แต่อย่างน้อย ไม่ว่าจะเป็นความรักหรือการทำงาน ถ้าเราพยายามดีที่สุดแล้วแต่สุดท้ายมันต้องจบลง ก็ไม่มีอะไรให้เสียใจทีหลัง เพราะเราทำดีที่สุดแล้ว

สักวันโลกจะเหวี่ยงคนดีๆเข้ามาหาเรา และขอให้เหวี่ยงงานดีๆเข้ามาให้ทุกๆคนด้วยนะคะ

ก็ขอให้ทุกคน Lucky in game, lucky in love นะคะ

สรุปใจความสำคัญของเอนทรี่นี้ เขียนมายาวๆ ไม่มีอะไรเลยค่ะ แค่อยากจะแชร์การเปลี่ยนมุมมองของตัวเอง ที่ทำให้เรารู้สึกโอเคกับการทำงานมากขึ้น ไม่รู้สึกเป็นลบเวลาเจอสถานการณ์ยากๆ เราอยากจะให้เครดิตพี่ล่ามไอดอลที่บอกกับเราว่า “เราเลือก user ไม่ได้หรอก” เพราะคำพูดนี้ของพี่ เรายังจำมาใช้จนทุกวันนี้ และสามารถรับทุกสถานการณ์ได้ด้วยอาการสงบมากกว่าเดิม ใจเย็นขึ้นแบบที่ไม่คิดว่าตัวเองจะทำได้

แล้วพอเรานิ่งขึ้น ใช้เหตุผลมากวก่าอารมณ์ มันก็ทำให้เรามองเห็นข้อบกพร่องของตัวเอง และเรียนรู้ที่จะแก้ไขมัน

เรายังเหลือข้อเสียเต็มไปหมด ก็หวังว่าเราจะโชคดี มีคนมาชี้แนะบ่อยๆ แบบนี้เรื่อยๆ แต่จริงๆหวังพึ่งแต่คนอื่นก็ไม่ได้หรอก เราต้องหัดรู้ปัญหาและแก้ไขได้ด้วยตัวเอง เราก็เลยพยายามแชร์ความคิดตัวเองออกไป เผื่อจะได้เห็นมุมมองอะไรดีๆที่จะเอากลับมาพัฒนาตัวเองได้ และก็หวังว่ามุมมองของเราจะช่วยแลกเปลี่ยนอะไรให้กับคนอื่นได้บ้างก็ดี