[ภาษาญี่ปุ่น] คำศัพท์เกี่ยวกับระบบ ISO/TS16949

สวัสดีค่ะ ห่างหายไม่ได้อัพไปนานมาก (พูดยังกับว่ามาอัพบ่อยๆ จริงๆไม่ใช่)

ถึงจะจั่วหัวมาว่าเป็นคำศัพท์ แต่เราไม่ลิสต์คำศัพท์ให้นะคะ เราว่าของแบบนี้ต้องค้นหาเอง ลิสต์เองถึงจะจำได้ หรือไม่ก็ดูจากคนอื่นที่เค้าลิสต์เอาไว้ แต่สไตล์เราไม่ใช่ค่ะ เราชอบพร่ำพรรณาบรรยายโวหารนิดนึง ไหนๆหลงเข้ามาก็ฟังเราคร่ำครวญนิดนึง

เราเปลี่ยนงานใหม่ค่ะ บทบาทหน้าที่ใหม่ที่ได้รับในครั้งนี้คือเป็นล่ามอย่างเดียว เนื้อหางานที่ได้รับมอบหมายก็คือให้เป็นล่ามในแผนกที่ดูแลเกี่ยวกับ ISO/TS16949 ไม่ได้ลงไลน์เลยค่ะ ยังไม่ได้เห็นหน้าตาผลิตภัณฑ์ที่บริษัทตัวเองผลิตชัดๆสักทีเลย วันๆอยู่แต่กับระบบๆๆๆๆและเอกสาร

พอมาเป็นล่ามหลายๆคนคงจะเคยได้ยินเกี่ยวกับออดิทใช่มั้ยคะ ออดิทที่ว่านี่ก็มีหลายออดิท ออดิทระบบ อินเทอร์นอลออดิท ออดิทของทางบัญชี ออดิเตอร์สาวๆสวยๆ (อันหลังนี่ไม่ใช่แล้ว เขียนๆไปชักจะเลอะเทอะ)

ส่วนงานที่เราได้ไปแปลจะเป็นเรื่องของการออดิทระบบค่ะ ซึ่งเราคิดว่ามันมีประเด็นหลายอย่างที่น่าสนใจมากก็เลยอยากจะเขียนเอาไว้ ชื่อหน่วยงานอะไรอาจจะไม่เป๊ะนะคะ คือเราเขียนบล็อกเอาฮาอ่ะค่ะ ไม่ได้เอาไปสอบอะไรนะคะ อ่านเอาขำๆพอได้ แต่อยากได้รายละเอียดที่ถูกต้องกรุณาหาข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ค่ะ

คือตอนแรกเริ่มเดิมทีเนี่ย เวลาเราเปิดบริษัททำธุรกิจกันเนี่ย ก็ไม่ได้มีมาตรฐานอะไรมากำหนดหรอก แต่ทำไปเรื่อยๆอ่ะกลัวว่ามันจะมั่วละ บริษัทผลิตรถยนต์ก็เลยกำหนดมาตรฐานมาให้ซัพพลายเออร์ปฏิบัติตาม แต่พอต่างคนต่างกำหนด มันก็เลยมีมาตรฐานหลายฉบับ ซัพพลายเออร์ก็เลยงง ตกลงนี่ฉันต้องทำตามมาตรฐานไหนกันแน่

ก็เลยมีกลุ่มชายชุดดำ(?) ตั้งตนเป็นองค์กรขึ้นมา เรียกตัวเองว่า องค์กรระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (The International Organization for Standardization) ชื่อย๊าวยาวอย่าไปจำมันเลยคะ่ เอาเป็นว่าพี่ชายชุดดำ(?) กลุ่มนี้เค้าก็เรียกตัวเองสั้นๆเท่ๆว่า ISO

ปกติที่เราได้ยินผ่านๆหูกันก็มี ISO9000, ISO9001, ISO14001 ใช่มั้ยคะ เห็นกันบ่อยๆเวลาไปโรงพยาบาล

ส่วน ISO/TS16949 ก็คือมาตรฐานที่กำหนดขึ้นมาเพื่อใช้สำหรับองค์กรที่อยู่ในห่วงโซ่ของผู้ผลิตรถยนต์นั่นเองค่ะ TS ย่อมาจาก Technical Specification หลักๆก็จะเป็นเรื่องของคุณภาพ

ตัวระบบที่เรานำเข้ามาใช้เค้าก็จะเรียกกันว่า 品質マネジメントシステム Quality Management System ระบบบริหารคุณภาพ

พอเราตกลงจะเอาระบบนี้เข้ามาใช้ ตามประสาคนญี่ปุ่น จะทำอะไรต้องมีคู่มือค่ะ ไม่เห็นคู่มือแล้วรู้สึกไม่มั่นใจเหมือนไม่ได้ใส่กางเกงในออกจากบ้าน บริษัทหรือองค์กรก็เลยต้องจัดทำ คู่มือคุณภาพขององค์กรขึ้นมา ซึ่งคู่มือนี้เราจะเรียกว่า 品質マニュアル Quality Manual คู่มือคุณภาพค่ะ แล้วไม่รู้เป็นอะไรนะ พวกคนที่ทำระบบพวกนี้ชอบพูดภาษาอังกฤษ กับพูดตัวย่ออะไรก็ไม่รู้ ไม่เห็นใจล่ามบ้างเลย ตูไม่ได้รู้เรื่องกับเอ็งทุกอย่างนะเว้ย เอ้า อยากย่อก็ย่อไป ตูเก่ง ตูหาข้อมูลได้ หาไม่ได้ตูก็จะถามจนกว่าตูจะได้มา คู่มือคุณภาพนี้บางคนที่ชอบย่อ ชอบทับศัพท์เค้าจะเรียกมันว่า QM ค่ะ

ตัว QM ยังมีเพื่อนมันอีกค่ะ คือถ้าบริษัทไหนทำระบบบริหารคุณภาพและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป มันก็จะขยายตัวค่ะ กลายเป็น QEM Quality&Environment Manual 品質・環境マニュアル คู่มือคุณภาพและสิ่งแวดล้อม

ทีนี้เวลาเราทำระบบ เราก็จะมีการจ้างบริษัทข้างนอกเข้ามาตรวจระบบให้ใช่มั้ยคะ แต่ก่อนจจะจ้างข้างนอกเข้ามาตรวจ เราก็ต้องตรวจภายใน (เอ๊ะๆๆ เรทรึเปล่า?) เอ่อ หมายถึงตรวจประเมินภายในองค์กรก่อน ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า internal audit และ external audit

内部監査 ないぶかんさ internal audit การตรวจประเมินภายใน

外部監査 がいぶかんさ external audit การตรวจประเมิน(โดยบุคคล)ภายนอก

จริงๆคำว่าออดิทเนี่ยเราเคยเห็นสองคำค่ะ มีคำว่า 審査 しんさ และ 監査 かんさ

ซึ่งแปลว่าออดิทเหมือนกัน แต่ 審査 เราเห็นในเอกสารเช่นรายงานของออดิเตอร์ เลยรู้สึกว่ามันน่าจะเป็นทางการมากกว่า แต่เราไม่แน่ใจในความเหมือนหรือความต่างของสองคำนี้ ถ้ามีใครไปถามผู้รู้หรือถามคนญี่ปุ่นแล้วมาชี้แจงให้เราทราบด้วยก็จะเป็นพระคุณอย่างสูงค่ะ

ปกติเวลาพูดถึงเรื่องของระบบเนี่ย คนชอบไปมองในเรื่องของเอกสาร เรื่องของรายละเอียดปลีกย่อย ก็เลยชอบคิดว่ามันยาก แต่พี่ที่เรารู้จักและสอนอะไรหลายๆอย่างให้เราคนหนึ่งเคยบอกเราว่า ก่อนที่จะไปมองในเรื่องของเอกสารหรือรายละเอียดปลีกย่อย ให้ทำความเข้าใจภาพรวมก่อน แล้วทุกอย่างจะง่ายขึ้นมาเอง นี่ก็เป็นสิ่งที่เราพยายามอยู่แต่ตัวเราเองก็อยู่ในขั้นเบบี๋มากๆ ยังมีอะไรที่เราต้องเรียนรู้อีกเยอะ (จนขี้เกียจเรียนแล้วเนี่ย)

ชักขี้เกียจพล่ามแล้วค่ะ เอาคำศัพท์ที่เราคิดว่าน่าสนใจไปเพิ่มแล้วกันนะคะ

予知保全 よちほぜん predictive maintenance การบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์

予防保全 よぼうほぜん preventive maintenance การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน พี่ๆเค้าชอบย่อว่า PM

ดีออกกกก บอกแค่นี้แล้วจะรู้มั้ยว่ามันต่างกันยังไงเนี่ย

predictive maintenance คือกิจกรรมเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการบำรุงรักษา เช่น เราเก็บข้อมูลเอาไว้เยอะๆเพื่อเอามาคาดการณ์ว่าเครื่องจักรมันมีโอกาสจะเสียเมื่อไหร่

preventive maintenance เป็นการขจัดสาเหตุที่จะทำให้เครื่องจักรมันเสีย ตัดไฟแต่ต้นลมซะก่อนที่มันจะเกิด ออกแบบกระบวนการให้ดีเพื่อป้องกันเครื่องจักรหยุด ไลน์หยุด ผลิตไม่ได้ เดี๋ยวนายด่า

インフラストラクチャー infrastructure โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ตัวตึก อาคาร เครื่องจักร น้ำ ไฟฟ้า สาธารณูปโภคต่างๆ ฮาร์ดแวร์ ซอฟท์แวร์ ที่เราใช้ในกิจกรรมการผลิต

顧客の要求 こきゃくのようきゅう customer requirement ข้อกำหนดของลูกค้า

要求事項 ようきゅうじこう requirement ข้อกำหนด โดยทั่วไปก็หมายถึงข้อกำหนดของ TS

ポカヨケerror proofing/fool proof โปกาโยเกะ เพื่อนเราแปลว่า ตัวกันโง่ เอาเป็นว่าเป็นอะไรสักอย่างที่ป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาด เช่น ตรงนี้พนักงานชอบหยิบพาร์ทผิดบ่อยๆ ก็อาจจะมีการติดตั้งเซ็นเซอร์หรืออะไรสักอย่างมาป้องกันไม่ให้ผิด

特採 とくさい ย่อมาจาก 特別採用 special accept การขอใช้ในกรณีพิเศษ คือจริงแล้วผลิตภัณฑ์ไม่ตรงตามมาตรฐาน แต่เราได้ร้องขอลูกค้าว่า ช่วยหน่อยนะ ช่วยรับไปหน่อย คราวหน้าจะไม่ให้มีอีกแล้วนะพี่ ช่วยหน่อยเหอะ หรือซัพพลายเออร์ขอเรา ช่วยหน่อยน่า หยวนน่า นิดนึงน่า แต่การขอให้ในกรณีพิเศาต้องมีกำหนดระยะเวลา หรือกำหนดล็อตที่ชัดเจนว่าจะหมดเมื่อไหร่ แล้วสินค้าที่ขอให้ในกรณีพิเศษจะต้องมีการชี้บ่งเพื่อให้สามารถสอบกลับได้

校正 こうせい calibration การสอบเทียบ เช่น สอบเทียบเครื่องมือวัดว่ามีความถูกต้องแม่นยำหรือไม่

検証 けんしょう verify ตรวจสอบ, ยืนยัน

ถามว่า 検証 กับ 校正 ต่างกันยังไง ตามความเข้าใจของเราคือ 校正 จะเป็นการนำเครื่องมืดวัดส่งไปตรวจสอบที่แล็บ เช่นสถาบันสอบเทียบหรือบริษัทที่รับสอบเทียบ เพื่อตรวจสอบเครื่องมือว่ามีความถูกต้องแม่นยำมั้ย ถ้าใช้ได้เค้าก็จะออกใบรับรองมาให้ คือจะจริงจังนิดหนึ่ง จะต้องตรวจสอบความถูกต้องโดยเทียบกับตัวมาสเตอร์

ส่วน 検証 นี่จะเบาๆกว่าหน่อย คือเอาเครื่องมือวัดสองตัวมาวัดเทียบกับ ตรงกัน อ๊ะ ใช้ได้ๆ

識別 しきべつ การชี้บ่ง คือการระบุให้ชัดเจนว่าของนั้นคืออะไร เช่นเรามีการข้อใช้ในกรณีพิเศษ ก้อาจจะทำการชี้บ่งด้วยการเขียนมาร์คสีน้ำเงินให้รู้ว่าล็อตนี้ขอใช้ในกรณีพิเศษนะ

トレーサビリティ traceability การทวนสอบ คือสามารถสอบกลับได้ว่ามันมีที่มาที่ไปอย่างไร

遡り さかのぼり การตรวจสอบย้อนกลับ

遡り กับ トレーサビリティ ต่างกันยังไง เราคิดว่า 遡り มักจะใช้ในไลน์ และเน้นในความหมายว่า สามารถตรวจสอบย้อนกลับ ได้ ส่วน トレーサビリティ เราพบในหนังสือเกี่ยวกับ ISO/TS แปลว่าทวนสอบได้ ประมาณนี้ งงมั้ย? เออ เราก็งง ใครมีคำตอบแบบเคลียร์ๆมาบอกเราด้วยนะ

เขียนไปเขียนมา อ้าว ดึกแล้วนี่หว่า ไปนอนดีกว่าพรุ่งนี้ทำงานต่อ

หวังว่ามันจะมีประโยชน์บ้างนะ เผื่อจะมีใครสักคนมาเสิร์ชอ่าน

ถ้าตรงไหนเราเขียนผิดหรือเข้าใจผิดบอกเราด้วยนะ อย่าปล่อยให้เราโง่อย่างเดียวดายในโลกอินเตอร์เนตอันแสนกว้างใหญ่

ขอบคุณค่ะ กราบสวัสดีรอบวง

6 thoughts on “[ภาษาญี่ปุ่น] คำศัพท์เกี่ยวกับระบบ ISO/TS16949

  1. ขอบคุณมากค่ะ เป็นประโยขน์มากที่สุด เพราะตอนนี้กำลังแปลเอกสาร ISO จากไทยเป็นญี่ปุ่น เนื่อจากภาษาไทยก็ยังงง ไม่ต้องพูดถึงภาษาญี่ปุ่นเลย เลือกคำใช้ไม่ถูก

  2. ผิดนิดหน่อยตรง 要求項目 อ่านว่า ようきゅうこうもく ไม่ใช่ ようきゅうじこう

  3. อ่านเพลินและเข้าใจง่ายมากเลยค่ะ อ่านไปอมยิ้มไป
    บทความนี้อาจจะหลายปีแล้วแต่พอดีตาไปเห็น 1 คำที่น่าจะเขียนผิดคือ 観客の要求 ตรง かんきゃく
    น่าจะเป็น 顧客 こきゃく นะคะ

    1. โอ้ ขอบคุณมากๆเลยค่ะ ผิดจริงๆด้วยค่ะ อีกอันที่เราเขียนของ IATF ก็ผิดคำนี้เลย ขอบคุณมากๆเลยนะคะ

Leave a comment